Lab กริ๊ง เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งสิ่งที่เด็กๆ ผู้สนใจคณะสายวิทย์สุขภาพต้องเรียนรู้ จะโหดหรือไม่ จะหินแค่ไหน มาทำความรู้จัก Lab กริ๊ง กัน
แล็บกริ๊งคืออะไร?
Lab กริ๊ง แล็บกริ๊ง คือการสอบประเภทหนึ่งที่มีเวลาจำกัดในการทำโจทย์แต่ละข้อ ไม่เหมือนการสอบทั่วไปที่เราจะสามารถบริหารเวลาอย่างไรก็ได้
สำหรับแล็บกริ๊ง จะมีเวลาให้เท่ากันหมดทุกข้อ และเมื่อเสียง ‘กริ๊งงงง’ ดังขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่าเราหมดเวลาทำโจทย์ข้อนี้แล้ว ต้องเตรียมตัวทำข้อต่อไปทันที ทางเดียวที่จะย้อนกลับมาทำได้คือต้องจำโจทย์ข้อเก่าไว้เท่านั้น เพราะพอเริ่มทำข้อใหม่ โจทย์เดิมก็จะหายไปทันที
Lab กริ๊ง แล็บกริ๊งจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
1.แบบนั่งสอบกับที่ อาจารย์จะขึ้นโจทย์บนจอใหญ่ๆ ให้ดู คล้ายกับ PowerPoint แล้วจับเวลาในการตอบ พอหมดเวลา ก็ขึ้นโจทย์ข้อใหม่แทน
2.สอบแบบเวียนฐาน นักศึกษาแต่ละคนจะประจำอยู่ที่ฐานของตัวเองตอนเริ่มสอบ โดยโจทย์จะแปะอยู่ที่โต๊ะ นั่นแปลว่า ข้อแรก ที่แต่ละคนได้ทำจะไม่เหมือนกัน เมื่อเสียงกริ๊งดัง ทุกคนต้องหยุดทำข้อนั้นๆ ออกจากฐานของตน แล้วเวียนไปฐานใหม่ในทิศทางเดียวกัน เวียนไปเรื่อยๆ จนทำครบทุกข้อ เป็นอันเสร็จสิ้นการสอบ
คณะไหนเจอสอบแล็บกริ๊งบ้าง?
คณะที่ต้องเจอแล็บกริ๊งแน่ๆ คือคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างแพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, สัตวแพทยศาสตร์, เภสัชศาสตร์ ส่วนคณะสายวิทย์อื่นๆ ก็มีโอกาสได้เจอแล็บกริ๊งเหมือนกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาควิชาและมหาวิทยาลัยที่เราเรียนด้วย
เทคนิค รับมือ Lab กริ๊ง แล็บกริ๊ง
1.มีสติ จดจ่อกับข้อตรงหน้า อย่าลนลาน ทำใจให้สงบเข้าไว้
2.ถ้าทำพลาดไปแล้ว ให้ลืมฐานนเก่าแล้วมุ่งหน้าสู่ด่านต่อไปเพื่อแก้ตัว
3.ถ้าคิดไม่ทันจริงๆ อารมณ์ว่าอีกนิดจะนึกออก สามารถทดคำถามของข้อนั้นไว้ได้ แล้วพอถึงรอบที่เราวนไปสถานีพัก ค่อยใช้เวลาตรงนั้นคิดต่อ หรือจะทวนคำตอบทั้งหมดอีกทีก็ได้
4.เขียนคำตอบให้เร็ว ถ้าเขียนผิด อย่าใช้ปากกาลบคำผิด มันเสียเวลา! ให้ขีดฆ่าไปเลย
จำไว้เสมอว่าข้อแรกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ข้อไหนทำไม่ได้ให้เขียนอะไรลงไปก็ได้ อย่าเว้นว่างไว้ ไม่งั้นอาจเผลอตอบรันข้อได้
5.จำตัวสะกดมาให้ดี เพราะบางเราอาจต้องตอบชื่อยากๆ อย่างชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อส่วนประกอบของอวัยวะต่างๆ หากเขียนผิดขึ้นมาสักตัว ระวังจะเสียคะแนน
6.ถ้าสังเกตว่าจุดมาร์กบนร่างอาจารย์ใหญ่เลื่อน หรือแผ่นสไลด์บนกล้องจุลทรรศน์เลื่อน อย่าปล่อยผ่าน ให้เรียกอาจารย์เลย เอาชัวร์เพื่อคะแนนดีกว่า
7.อ่านสอบมาให้แม่น ถ้าอ่านบ่อยๆ เราจะจำได้ขึ้นใจแบบถามปุ๊บตอบปั๊บเอง นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาคิดแล้ว ยังช่วยลดความกดดันด้วยนะ