ดาราศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์บทหนึ่งที่น้องๆ หลายคนชื่นชอบ (หรือเปล่านะ 🤣) แต่ก็มีคำศัพท์เฉพาะมากมายที่เราต้องทำความรู้จัก วันนี้พี่ๆ ออนดีมานด์ ขอรวบรวมคำศัพท์ส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่ ตามไปดูกันเลยครับ!!
บิกแบง ( Big Bang )
ทฤษฎีกำเนิดเอกภพที่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือบิกแบงหรือการระเบิดครั้งใหญ่ อธิบายว่า เอกภพเริ่มจากเหตุการณ์เมื่อประมาณ 13,800 ล้านปีมาแล้ว โดยเริ่มจากภาวะที่มีพลังงานสูงยิ่งอุณหภูมิและความหนาแน่นสูงมาก ทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นสสาร พลังงาน ปริภูมิ และเวลา เริ่มเกิดขึ้นจากจุดนั้น
ซูเปอร์โนวา ( Supernova )
การระเบิดอย่างรุนแรงของดาวฤกษ์ มวลมาก แผ่พลังงานมหาศาล ความส่องสว่างอาจมากกว่าความส่องสว่างของทั้งดาราจักร
จักรวาลหรือเอกภพ ( Universe )
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎอยู่ในเวลาและอวกาศ
เนบิวลา ( Nebula )
กลุ่มแก๊สและฝุ่นในอวกาศ ที่ดูคล้ายเมฆหมอก
ดาราจักรหรือกาแล็กซี ( Galaxy )
อาณาจักรของดาวฤกษ์ที่กาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน แต่ละดาราจักรอาจมีดาวฤกษ์ตั้งแต่หลายพันดวงขึ้นไปจนถึงหลายแสนล้านดวง
ดาวเคราะห์ ( Planet )
วัตถุที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ดาวแคระน้ำตาล หรือซากของดาวฤกษ์ มีสัณฐานเกือบเป็นทรงกลม มีมวลน้อยเกินกว่าจะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่แก่น วงโคจรปลอดโปร่งเป็นอิสระจากวัตถุอื่น ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์ 8 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
ดาวเคราะห์น้อย ( Asteroid )
วัตถุขนาดเล็กที่อยู่ในระบบสุริยะชั้นใน มีขนาดตั้งแต่ไม่กี่สิบเมตร จนถึงหลายร้อยกิโลเมตร ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่โคจรอยู่ระหว่างวงโคจร ของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี
แถบดาวเคราะห์น้อย ( Asteroid belt )
บริเวณในระนาบของระบบสุริยะช่วงตั้งแต่ 2.0-3.3 หน่วยดาราศาสตร์ จากดวงอาทิตย์ มีดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากโคจรอยู่
ดาวเคราะห์แคระ ( Dwarf planet )
วัตถุในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ มีสันฐานเกือบเป็นทรงกลมคล้าย ดาวเคราะห์ แต่มีมวลน้อยเกินกว่าจะทำให้วงโคจรปลอดโปร่ง เป็นอิสระจากวัตถุอื่นที่มีขนาดเล็กกว่าสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล กำหนดนิยามของดาวเคราะห์แคระเมื่อ พ.ศ. 2549 หลังการค้นพบอีรีส ซึ่งเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่าพลูโตโคจรอยู่ในแถบไคเปอร์ ทั้งอีรีสและพลูโตจึงได้รับการจำแนกเป็นดาวเคราะห์แคระ เช่นเดียวกับชีรีส ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อย
อุกาบาต ( Meteorite )
วัตถุแข็งจากนอกโลกที่ฝ่าบรรยากาศโลกเข้ามาจนตกถึงพื้นดิน อาจเป็นหินหรือโลหะหรือทั้งสองอย่างผสมกันก็ได้
ดาวหาง ( Comet )
ลูกบอลน้ำแข็งและฝุ่นละอองในอวกาศที่โคจรรอบดาวฤกษ์
แถบไคเปอร์ ( Kuiper belt )
แถบรูปวงแหวนล้อมรอบดวงอาทิตย์มีระยะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ประมาณ 30-50 หน่วยดาราศาสตร์ เป็นที่อยู่ของวัตถุขนาดเล็กที่มี องค์ประกอบคล้ายนิวเคลียสดาวหางจำนวนมาก เชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางคาบสั้น
พัลซาร์ ( Pulsar )
ดาวนิวตรอนที่ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาเป็นลำ โดยลำของรังสีจะกวาดผ่านผู้สังเกตการณ์อย่างสม่ำเสมอ จากการหมุนรอบตัวเองของดาวนิวตรอน จึงสังเกตได้เป็นพัลส์ต่อเนื่อง
หลุมดำ ( Black hole )
วัตถุที่มีความโน้มถ่วงสูงมาก มีความเร็วหลุดพ้น เท่ากับหรือมากกว่าอัตราเร็วแสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงแผ่ออกจากหลุมดำไม่ได้
เรียนเพิ่มเติมกับครูที่คลั่งรักเรื่อง ดาราศาสตร์ ที่สุด ❤️
หรือ คลิกดูแผนการเรียน ฟิสิกส์ ม.ต้น ที่แนะนำ 👉 คลิก
อย่าลืมกด LIKE 👍 Facebook Fanpage ของ ออนดีมานด์ OnDemand สถาบันกวดวิชาออนดีมานด์ เพื่อไม่ให้พลาด สาระดีๆ ข่าวสาร และสิทธิพิเศษ นะคร้าบบ