สังเกต ก่อนถามไถ่ พร้อมให้คำชม เล็ก ๆ น้อย ๆ
หลายครั้งที่เราถามลูกว่าวันนี้เรียนเป็นไงบ้าง? ก็อาจได้คำตอบประมาณว่า “ก็ดี” เหมือนทุก ๆ วัน จนเราเองไม่รู้ว่าจะให้กำลังใจทางไหนดี อาจเป็นเพราะตัวน้องเองก็ไม่กล้าอธิบายเยอะด้วย
ดังนั้นเราอาจต้องลองเปลี่ยนการจากการถาม เป็นการสังเกต เช่น ถ้าเห็นน้องมีการเตรียมตัวส่งงาน ก็อาจเริ่มชมเปรย ๆ ว่า เตรียมตัวได้ดีนะ หรือลองดูจากตารางสอน ว่าน้องจะเจอวิชาที่ไม่ค่อยชอบในวันไหน และลองถามถึงวิชานั้น ๆ ดู พร้อมตบท้ายว่า “ทำได้ดีแล้วนะ”
ช่วยลำดับจัดการ “การบ้าน” ของลูก
เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่ช่วง ม.1 ก็ต้องยอมรับว่าเนื้อหามีความ advanced ขึ้นเรื่อย ๆ จนเราไม่สามารถช่วยน้องทำการบ้านได้หมด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ ช่วยลำดับจัดการงานให้เขาค่ะ อย่าพึ่งซักถามว่ามีการบ้านอะไรบ้าง แต่ลองใช้วิธีสังเกตดูอีกรอบ หรือเข้าไปถามในจังหวะที่น้องกำลังทำงานอยู่ และค่อย ๆ ถามวันส่ง ถามถึงงานอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยให้กำลังใจเขาแล้ว ยังเป็นการแสดงออกว่าเราใส่ใจชีวิตของเขาด้วยนั่นเอง (ลำดับจัดการงานการบ้าน = จัดการชีวิต)
ซัพพอร์ตการเข้าสังคม
ต้องยอมรับว่า “เพื่อน” คือเหตุผลใหญ่ที่ทำให้เราอยากไปโรงเรียน และก็อาจเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเช่นกัน ถ้าลูกดันมีเพื่อนสนิทที่เป็น Toxic Relationship เราจะทำอย่างไร?
ส่วนนี้เราคงทำได้แค่คอยปลอบและให้กำลังใจ ว่าจริง ๆ แล้ว เขาสามารถมีความสุขได้แม้อยู่ตัวคนเดียว ให้เขามีกำลังใจในการพิสูจน์ให้เพื่อนเห็นว่า สิ่งเพื่อนทำนั้นเป็นสิ่งผิด แล้วจากนั้นเขาจะเริ่มมองหากิจกรรมที่เขาสนใจจริง ๆ มองหาสังคมที่เป็นของเขาจริง ๆ แล้วเราก็เริ่มซัพพอร์ตเขาให้เต็มที่ค่ะ เช่น การกีฬา กิจกรรมนอกเวลา หรือชวนเพื่อนมาเล่นและทำงานที่บ้าน เป็นต้น
ให้คำตอบตามจริง
ถ้าเกิดเหตุผลของการไม่อยากไปโรงเรียนเริ่มมีความเป็นปรัชญา เช่น เราเรียนไปทำไม? ฉันถนัดอันนี้ แต่ทำไมต้องเน้นเรียนอันนี้? หากเจอคำถามแนวนี้ ผู้ปกครองต้องพยายามให้คำตอบที่ไม่ชักจูงหรือยัดเยียดว่าการตั้งคำถามเป็นสิ่งผิด แต่ให้อธิบายตามจริงว่า ถ้าเกิดเราเลือกเส้นทางตามที่คิดแบบ 2, 3, 4 น้องจะต้องอะไรในอนาคตบ้าง ต่างจากการเข้าเรียนในปัจจุบันอย่างไร? เป็นการตีแผ่และร่วมกันมองภาพรวมอนาคตไปกับคุณลูกนั่นเอง
โดยสรุปแล้ว ทั้ง 4 วิธี ล้วนเป็นการทำความเข้าใจเด็ก เพื่อที่เราจะสามารถหาช่องว่างในใจ ในการซัพพอร์ตและให้กำลังใจเขาได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของแต่ละครอบครัว ที่อาจมีวิธีการอื่น ๆ ก็สามารถที่จะนำมาใช้เปิดใจได้เช่นกันค่ะ