Tense คืออะไร
ถ้าพูดถึงแกรมมาร์ภาษาอังกฤษแล้วล่ะก็ หัวข้อนึงที่น้องๆ น่าจะเรียนกันมาตั้งแต่เด็กและนิยมนำมาออกสอบในหลายสนามสอบก็คงหนีไม่พ้น Tense นั่นเอง โดยภาษาอังกฤษจะมีทั้งหมด 12 Tense ที่เราจะต้องจำเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ไม่ว่าจะเป็นการสอบภายในห้องเรียนหรือสอบเข้าคณะในฝันก็ตาม
ดังนั้น ทีมวิชาการ Premier Prep เลยสรุปหลักการใช้ Tense ทั้ง 12 อย่างละเอียด แบบฉบับเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่พื้นฐานพร้อมกับสรุปประเด็นน่าจดจำที่จะช่วยให้น้อง ๆ ก้าวขาเข้าห้องสอบอย่างมั่นใจครับ
เมื่อเราพูดถึง Tense เรามักจะพูดถึงกริยา (Verb) โดย Tense นั้นจะหมายถึงรูปแบบของกริยาที่แสดงให้รู้ว่า กริยาที่ทําหรือเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นเมื่อไร ได้เกิดขึ้นมาแล้วหรือกําลังเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะฟังดูยากใช่ไหมครับ แต่ว่าจริงๆแล้วมันก็คือสิ่งที่ทำให้รู้ว่าประโยคนี้เป็นอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคตนั่นเอง ซึ่งจะเป็นแบบนี้ทั้ง 12 Tense เลยครับ ตัวอย่างคือ
- A cat is eating food. (ปัจจุบัน น้องแมวกำลังกินข้าวอยู่ โดยดูจากคำกริยา is eating)
- A cat ate food. (อดีต เพราะน้องกินไปแล้ว โดยดูจากคำกริยา ate)
- A cat will eat food (อนาคต น้องกำลังจะกิน โดยดูจากคำกริยา will eat)
จากประโยคข้างบนจะเห็นว่าทุกประโยคนั้น คำที่ใช้ในประโยคแทบจะเหมือนกันหมดยกเว้นคำกริยา นั่นก็คือ is eating, ate, และก็ will eat นั่นเอง ซึ่งตรงนี้แหละครับคือคำกริยา หรือ Verb ที่บ่งบอก Tense ของประโยคว่ากล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต เรามาดูรายละเอียดของ 12 Tense กันเลยดีกว่าครับว่ามีหลักการใช้เป็นยังไง
โครงสร้างของ 12 Tense
ปกติแล้ว Tense แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ซึ่งบ่งบอก “เวลาที่เหตุการณ์เกิด” ได้แก่
- Present (ปัจจุบัน) ให้นึกถึงกริยาช่องที่ 1 หรือที่เราชอบเรียกกันว่า Verb 1
- Past (อดีต) ให้นึกถึงกริยาช่องที่ 2 หรือที่เราชอบเรียกกันว่า Verb 2
- Future (อนาคต) ให้นึกถึง will + V.inf (กริยารูปดั้งเดิม)
แต่ที่น้องๆ เคยเรียนว่ามี 12 Tense มันมาจากไหน? ที่มาของการมี 12 Tense นั้นเป็นเพราะว่า ภาษาอังกฤษแบ่งเวลาทั้งหมดเป็น 3 รูปแบบ นั่นก็คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ครับ ซึ่งในแต่ละช่วงเวลานั้นก็จะเหตุการณ์ที่ถูกแบ่งลงลึกไปอีกว่าทั้งหมด 4 ด้าน นั่นก็คือ
- Simple ให้นึกถึงเหตุการณ์ทั่วไป ข้อเท็จจริง
- Continuous ให้นึกถึงเหตุการณ์ต่อเนื่อง กำลังเกิดสดๆ ร้อนๆ
- Perfect ให้นึกถึงเหตุการณ์กินระยะเวลา
- Perfect Continuous เหตุการณ์กินระยะเวลาและต่อเนื่อง
ซึ่งพอเราเอา 3 รูปแบบของช่วงเวลา (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) คูณกับ 4 เหตุการณ์ (Simple, Continous, Perfect, Perfect Continous) น้อง ๆ ก็จะได้ 12 Tense แบบที่เคยเรียนกันมานั่นเอง
การใช้ Tense ทั้ง 12
อย่างที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ โครงสร้างของ Tense นั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบของเวลาหรือลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การใข้ Tense ทั้ง 12 ได้ดีนั้นจะต้องรู้ว่าแต่ละ Tense มีความเกี่ยวข้องกับเวลาอย่างไร อย่างไรก็ดี ความยากของการใช้ 12 Tense ได้ดีก็คือต้องรู้ก่อนว่าแต่ละ Tense มีโครงสร้างอย่างไร เพื่อให้เราอ่านแล้วรู้ทันทีว่าความหมายของประโยคนี้มีความเกี่ยวข้องกับเวลาอย่างไร ตัวอย่างคือ
- He has lived in Thailand since 2014
- My brother had done his math homework when I finished mine.
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่ามีรูปแบบค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ตัวอย่างที่ 1 คือ Present Perfect ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนในตัวอย่างที่ 2 คือ Past Perfect ซึ่งหมายถึงที่เกิดขึ้นและจบลง ก่อนที่จะมีอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นตามหลัง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม้ว่าจะมีโครงสร้างที่คล้ายกันมากๆ แต่การใช้และความหมายนั้นต่างกัน ดังนั้นการรู้จัก 12 Tense จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าเราควรวิเคราะห์ประโยคและใช้ Tense แต่ละ Tense อย่างไร
Present Tense
บอกเล่าเรื่องราวในปัจจุบัน
จากทั้ง 12 Tense นั้น จุดประสงค์ของการใช้ Present Tense คือการบอกเล่าเรื่องราวในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่ยังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เช่น เราอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2014 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันเราก็ยังอยู่ที่กรุงเทพมหานคร หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องราวที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวันและสิ่งที่อยู่ ณ ขณะนั้น เรามาดูทั้ง 4 aspect ของ Present Tense กันว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
Present Simple Tense
Tense นี้เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน 12 Tense ยอดฮิตที่ออกข้อสอบนับครั้งไม่ถ้วน การใช้งานที่ออกสอบบ่อย ๆ ก็คือการใช้งานในเหตุการณ์ ดังนี้
ข้อเท็จจริงทั่วไป
เช่น The smallest country in the world is the Vatican. (ประเทศที่เล็กที่สุดในโลกคือวาติกัน) ยังไงก็ตามประเทศที่เล็กที่สุดก็ต้องเป็นวาติกัน เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงทั่วไป เป็นจริงเสมอ รู้กันทั้งหมดนั่นเอง
กำหนดการ
เช่น The train to Seoul leaves the station every one hour. (รถไฟที่ไปโซลจะออกจากสถานีทุกชั่วโมง) เป็นตารางเวลาของสถานีมาแล้วว่ารถไฟขบวนนี้จะออกจากสถานีทุกหนึ่งชั่วโมง เป็นข้อเท็จจริงว่าออกทุกหนึ่งชั่วโมง ตรงนี้ควรระวังการแปลตรงตัวจากภาษาไทย เพราะบางทีประโยคฟังดูมีคำว่า ‘จะ’ ซึ่งอาจทำให้หลงไปใช้ Future แต่จริง ๆ แล้วให้เราดูที่ลักษณะเหตุการณ์เป็นหลักนะ
กิจวัตรในปัจจุบัน
เช่น I always go to school by bus. (ฉันไปโรงเรียนโดยรถเมล์เสมอ) กิจวัตรก็คือการนั่งรถเมล์ไปโรงเรียนและเป็นแบบนี้ประจำ น่าจะเรียกได้ว่าทุกวันเลยเพราะย้ำด้วยคำว่า always ซึ่งคำบอกเวลาที่พบบ่อยใน Present Simple Tense เช่น always, usually, often, regularly, sometimes, occasionally, seldom, rarely, hardly, never, every day, on Mondays
แต่!! บางทีคำพวกนี้ก็ใช้บอกกิจวัตรในอดีตได้ด้วย เช่น I always went to school by bus in my childhood. (ฉันไปโรงเรียนโดยรถเมล์เสมอตอนเด็ก ๆ) ถึงจะมี always และดูน่าจะเป็น Present Simple แต่ถ้าดูความหมายให้ดี มันเกิดขึ้นใน ‘อดีต’ เพราะเกิดขึ้น ‘ตอนเด็ก ๆ’ ก็เลยเป็น Past Simple ใช้กริยา V.2 หรือก็คือคำว่า went นั่นเอง
ดังนั้น หากน้อง ๆ จะตัดสิน Tense จากคำบอกเวลาอย่างเดียวอาจจะไม่ปลอดภัย ควรสังเกตจุดอื่น ๆ และตีความความหมายโดยรวมด้วยนะ ย้ำว่าไม่ใช่แค่ Tense นี้ Tense เดียวแต่รวมถึงทั้ง 12 Tense เลยนะ
Present Continuous Tense
โครงสร้าง Present Continuous คือ S + is/am/are + V.ing ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 Tense ที่ใช้ในเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
เช่น I am walking to the door. (ฉันกำลังเดินไปที่ประตู) แสดงว่าจังหวะที่พูดประโยคนี้ คนพูดต้องกำลังเดินไปที่ประตูแน่นอน คำบอกเวลาที่พบบ่อย เช่น now (ตอนนี้), at the moment (ตอนนี้)
บอกเหตุการณ์อนาคตที่วางไว้ล่วงหน้า
เช่น I am attending the meeting in 20 minutes. (ฉันกำลังจะเข้าประชุมในอีก 20 นาที) แสดงว่าการประชุมครั้งนี้ต้องมีนัดหรือวางแผนไว้ล่วงหน้ามาแล้วแน่นอน
Present Perfect Tense
Present Perfect Tense โครงสร้าง คือ S + has/have + V.3 ซึ่งมักจะกับใช้กับ 2 เหตุการณ์ดังนี้
เกิดในอดีตเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน
เช่น Maria has taught in a tutoring school for 10 years. (มาเรียสอนที่โรงเรียนกวดวิชามาสิบปี) แสดงว่าเริ่มสอนตั้งแต่อดีต สอนมาเรื่อย ๆ ถึงปัจจุบัน แถมสอนนับจากจุดเริ่มถึงตอนนี้ก็ 10 ปีแล้ว
คำบอกเวลาที่พบบ่อย เช่น for (เป็นเวลา…), since (ตั้งแต่…)
เหตุการณ์จบไปในอดีต แต่ผลยังส่งถึงตอนนี้
เช่น My brother has just cleaned his room. (น้องชายทำความสะอาดห้องตัวเองเสร็จแล้วเมื่อตะกี้นี้) แปลว่า เหตุการณ์ที่ห้องถูกทำความสะอาดนั้นจบไปแล้ว แต่ความสะอาดของห้องนั้นยังอยู่ (ก็บอกแล้วไงว่าทำความสะอาดแล้ว ห้องมันถึงได้สะอาดขนาดนี้ ฮึ่ม!)
คำบอกเวลาที่พบบ่อย เช่น already (แล้ว/ไปแล้ว), just (เพิ่งจะ), still (ยังคง…อยู่), yet (ยัง), lately (เมื่อไม่นานนี้), recently (ไม่นานมานี้), so far (จวบจนตอนนี้), up until now (จวบจนตอนนี้)
Perfect Tense มักจะเป็นทำให้น้องๆมีปัญหามากที่สุดใน 12 Tense เพราะนึกภาพการใช้ได้ยาก แต่ในกรณีของ Present Perfect Tense นั้นเป็น Tense ที่ใช้บ่อยมาก Tense นึงเลยทีเดียว ทาง Premier Prep แนะนำว่าจำโครงสร้าง Tense นี้ไว้ให้ดีเลยเพราะใช้ได้หลายสถานการณ์มากๆ
Present Perfect Continuous Tense
เป็นอีกหนึ่งใน 12 Tense ที่น้องๆมีปัญหาอย่างมาก เรียกว่าเป็นลำดับที่ 2 รองจาก Present Perfect เลยทีเดียว เพราะ Present Perfect Continuous นั้นมีความเหมือนกับ Present Perfect เป็นอย่างมาก โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยดังนี้
เกิดในอดีตเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ตรงนี้นี่เองที่เหมือนกับ Present Perfect และทำให้น้องๆหลายคนสับสนว่าสรุปแล้วประโยคนี้มันเป็น Present Perfect หรือ Present Perfect Continuous กันแน่ ซึ่งถ้าจะอธิบายละก็สามารถดูตัวอย่างด่านล่างนี้
- Maria has taught in a tutoring school for 10 years. (Present Perfect)
- Maria has been teaching in a tutoring school for 10 years. (Present Perfect Continuous)
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประโยคนี้ใช้ Tense ต่างกัน แต่ว่าความหมายจริงๆแล้วเหมือนกันเลยครับ นั่นก็คือ มาเรียสอนหนังสือในโรงเรียนกวดวิชามาเป็นเวลา 10 ปี ดังนั้นน้องๆโน๊ตไว้เลยว่าถึงแม้จะใช้ Tense ต่างกัน แต่ความหมายจริงๆเหมือนกันนะ ทีนี้มาดูสิ่งที่ไม่เหมือนกันดีกว่า
เกิดในอดีตเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน แต่!! เหตุการณ์มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำเรื่องเวลา
- Maria has been eating ice cream all day!
ประโยคนี้อธิบายเหตุการณ์ที่ว่า Maria กินไอศกรีมมาทั้งวันเลย และไม่มีแนวโน้มว่าจะเลิกกินเลยด้วย!! ตรงนี้นี่เองที่แตกต่างจาก Present Perfect ครับ นั่นก็คือบริบทของประโยคมีแนวโน้มที่จะดำเนินไปเรื่อยๆ และเน้นย้ำเรื่องเวลามากกว่านั่นเอง
Past Tense
บอกเล่าเรื่องราวในอดีต
Past Tense เป็น Tense ใน 12 Tense ที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวในอดีต โดยการบอกเล่าเรื่องราวในอดีตด้วย Past Tense ซึ่งถ้าเราลองเทียบระหว่าง Present Simple Tense กับ Past Simple Tense ละก็ ตัวอย่างข้างล่างอาจจะทำให้น้องๆเข้าใจได้มากขึ้น
- My cat always ate food at my house. (น้องแมวของฉันมักจะกินข้าวที่บ้านฉัน [แต่ตอนนี้ไม่แล้ว])
- My cat always eats food at my house. (น้องแมวของฉันมักจะกินข้าวที่บ้านฉัน [ตอนนี้ก็ยังกินที่บ้านเป็นกิจวัตร])
ประโยคทั้งสองใช้ในการอธิบายกิจวัตรทั้งสิ้น เพียงแค่ประโยคแรกเป็น Past Tense ที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ที่เป็นกิจวัตรของน้องแมวที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ในข้อสองจะเป็นกิจวัตรในปัจจุบันครับ จะเห็นได้ว่าทั้ง Present Tense และ Past Tense มีความเหมือนและต่างกันอยู่ ซึงจะเป็นแบบนี้ทั้ง 12 Tense เลยครับ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นเรามาดูหลักการใช้ Past Tense อย่างละเอียดกัน
Past Simple Tense
Past simple tense โครงสร้าง คือ S + V.2 ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับ Present Simple Tense เลยครับ เพียงแค่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น และเป็นหนึ่งใน 12 Tense ที่ออกสอบค่อนข้างบ่อย ลองมาดูเหตุการณ์ที่เรามักใช้ Past Simple Tense เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นกันดีกว่าครับ
เกิดและจบในอดีต
เช่น Demi was in New York in 2000. (เดมีอยู่ที่นิวยอร์กเมื่อปี 2000) แสดงว่าเธออยู่นิวยอร์กในอดีตและจบลงไปแล้ว แต่เราไม่ได้โฟกัสว่าอยู่นานแค่ไหนนะ รู้แค่ว่าอยู่เมื่อปี 2000 เป็นเพียงจุดหนึ่งในอดีต
คำบอกเวลาที่เรามักจะพบบ่อยใน Past Simple คิอ yesterday (เมื่อวาน), the other day (เมื่อวันก่อน), in those days (สมัยนั้น), previously (ก่อนหน้านี้), last month (เดือนที่แล้ว), three weeks ago (สามสัปดาห์ก่อน), in 1992 (เมื่อปี 1992) แต่น้อง ๆ ควรระวังว่าหลาย ๆ คำในนี้สามารถใช้กับ Past Continuous ได้ด้วย ขึ้นอยู่กับลักษณะเหตุการณ์ที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ
กิจวัตร/เกิดซ้ำ ๆ ในอดีต
เช่น I always went to school by bus in my childhood. (ฉันไปโรงเรียนโดยรถเมล์เสมอตอนเด็ก ๆ) คุ้น ๆ ประโยคนี้กันไหมเอ่ย อย่าลืมนะว่าถ้าเป็นกิจวัตรในอดีต ต้องใช้ Past Simple อย่าโดนคำบอกเวลาหรือหลักการของ Present Simple หลอกเอานะ
Past Continuous Tense
Past Simple Continuous เป็น 1 ใน 12 Tense ที่ออกข้อสอบบ่อยเพราะมักจะถูกนำไปออกข้อสอบควบคู่กับ Past Simple Tense ครับ โดยจะมีแนวทางในการนำไปใช้ดังนี้
กำลังเกิดในอดีตและเกิดขึ้นสักพัก
เช่น Amanda was washing her clothes last night. (เมื่อคืนอแมนด้าซักผ้าอยู่) แสดงว่าคนพูดประโยคนี้อยากจะบอกว่าอแมนด้าซักผ้าในอดีตและย้ำว่าซักอยู่สักพักเลยนะ
ใช้เทียบกับอีกสถานการณ์ (Tense คู่)
- ใช้ Past Continuous คู่ Past Simple
เช่น While Henry was driving his car, its engine exploded.
เฮนรีขับรถเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจึงใช้ Past Continuous แต่จังหวะที่เครื่องยนต์ระเบิด เป็นแค่จังหวะเดียวที่เกิดขึ้นจึงใช้ Past Simple ต่อท้าย
- ใช้ Past Continuous คู่ Past Continuous
เช่น While Henry was driving his car, his mother was talking on the phone.
ใช้ Tense นี้ทั้งคู่ เพราะเหตุการณ์ที่ขับรถกับคุยโทรศัพท์เกิดต่อเนื่องทั้งคู่และเกิดเคียงคู่กันไป
Past Perfect Tense
เป็นหนึ่งใน 12 Tense โดยมีโครงสร้าง คือ S + had + V.3 ซึ่งเป็น Tense ที่เข้าใจค่อนข้างยากและมีสถานการณ์การใช้ที่ค่อนข้างเจาะจงมากๆ ไม่แปลกเลยที่น้องๆ จะงงครับ ทีมวิชาการ Premier Prep จะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นเอง!
ความหมายของ Past Perfect Tense คือ “อดีตที่เก่ากว่าอดีต” นิยมใช้เทียบกับอดีตที่เกิดทีหลัง โดยเมื่อเทียบกับ Past Simple แล้วล่ะก็จะเป็นดังนี้ครับ
- อดีตที่เกิดหลังใช้ Past Simple
- อดีตที่เกิดก่อน (อดีตที่เก่ากว่าอดีต) ใช้ Past Perfect
เช่น When I finished my task, everyone had left the office. (ตอนที่ฉันทำงานเสร็จ ทุกคนก็ออกจากออฟฟิศไปกันแล้ว)
สองเหตุการณ์นี้เกิดคนละจังหวะกัน เพราะทุกคนออกไปจากออฟฟิศตั้งแต่ก่อนที่งานฉันจะเสร็จ เหตุการณ์ที่ทำงานเสร็จเป็นอดีตที่เกิดหลังจึงใช้ Past Simple ส่วนเหตุการณ์ที่ทุกคนออกไปแล้วคืออดีตที่เกิดก่อน จึงเป็นการใช้ Past Perfect
จะเห็นได้ว่า Tense นี้เป็นหนึ่งใน 12 Tense ที่ใช้งานยากจริงๆ และเหตุการณ์ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงมากๆครับ ยังไงรู้ไว้ก่อนไม่เสียคะแนนเปล่าๆครับ
Past Perfect Continuous Tense
Past Perfect Continuous นั้นจะมีความคล้ายคลึงกับ Past Perfect พอสมควรครับ คือ จะใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดก่อนอีกเหตุการณ์หนึ่งในอดีต (Past Simple) แต่ว่า!! เน้นย้ำเวลาของเหตุการณ์แรกว่าเกิดนานแค่ไหน ก่อนจะที่เกิดอีกเหตุการณ์นึง ตัวอย่างคือ
- She had been doing homework for 2 hours before the teacher arrived. (เธอทำการบ้านอยู่เป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนที่คุณครูจะมาถึง)
จากประโยคข้างบนจะเห็นได้ว่าประโยคมีความคล้ายคลึงกับ Past Perfect Tense ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงคนนี้ทำการบ้านก่อนที่คุณครูจะมาถึง แต่มีการมีเน้นย้ำระยะเวลาของเหตุการณ์แรก (เป็นเวลา 2 ชั่วโมง)
Future Tense
บอกเล่าเรื่องราวในอนาคต
Future Tense เป็น Tense สุดท้ายใน 12 Tense แล้วครับ โดย Future Tense มีเป้าหมายหลักๆ คือการบอกเล่าเรื่องราวในอนาคตนั่นเอง อย่างที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ Future Tense เองก็มีความคล้ายคลึงกับ Present Tense และ Past Tense เรามาดูโครงสร้าง Tense ของ Future กันเลยดีกว่า
Future Simple Tense
เป็นอีกหนึ่ง Tense ใน 12 Tense ที่ออกข้อสอบค่อนข้างบ่อยเทียบเท่ากับ Present Simple กับ Past Simple Tense เลยครับ เพราะว่ามีสถานการณ์การใช้ที่ค่อนข้างกว้างและเข้าใจได้ง่าย โดยเหตุการณ์ที่เราจะนำ Future Simple มาใช้มีประมาณ 2 เหตุการณ์คือ
ข้อเท็จจริงในอนาคต
เช่น Paris will host the 2024 Olympic Games. (ปารีสจะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกปี 2024) นี่คือเหตุการณ์ที่รู้กันทั่วไปเป็นข้อเท็จจริง เพียงแต่ยังไม่ได้เกิดตอนนี้ จะเกิดในอนาคต
คาดการณ์อนาคต
เช่น The economy will recover after the return of tourists. (เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังการกลับมาของนักท่องเที่ยว) ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นแน่ ๆ หรือเปล่า เพราะจริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่เอาแน่นอนไม่ได้ แต่คาดการณ์จากเท่าที่เห็นหรือประสบการณ์ว่าคงจะฟื้นถ้านักท่องเที่ยวกลับมา
Future Continuous Tense
Future Continuous เรียกได้ว่าคล้ายคลึงกับ Present Continuous กับ Past Continuous เลยก็ว่าได้ แต่เป็นในเชิงอนาคตครับ
- ใช้กับเหตุการณ์ที่คาดว่าจะกำลังทำบางอย่างในอนาคต มักบอกเวลาแน่นอน
เช่น I will be sitting in an interview room tomorrow morning. (พรุ่งนี้เช้าฉันกำลังอยู่ในห้องสัมภาษณ์) แสดงว่ามีนัดสัมภาษณ์พรุ่งนี้เช้า เลยคิดว่า “พรุ่งนี้ในตอนเช้าก็ต้องกำลังนั่งสัมภาษณ์อยู่แหละ เวลานั้นคงจะไม่ได้ทำอย่างอื่นหรอก”
เป็นหนึ่งใน 12 Tense ที่มีการใช้ที่ไม่ได้เจาะจงมาก แต่ก็ไม่ได้กว้างจนเกินไป ซึ่งเป็น Tense ที่ทาง Premier Prep แนะนำว่ารู้ไว้ดีกว่ามาเจอในข้อสอบแล้วไม่รู้ครับ
Future Perfect Tense
ขึ้นชื่อว่า Perfect Tense แน่นอนว่าต้องติดหนึ่งใน 12 Tense ที่ใช้งานยากมากแน่ๆ โดยในกรณีของ Future Perfect Tense มีสถานการณ์การใช้งานที่ค่อนข้างเจาะจงมากๆครับ
- ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดจากจุดหนึ่งและจะไปจบ ณ จุดหนึ่งในอนาคต
เช่น By the end of 2030, I will have saved one million baht. (ภายในปี 2030 ฉันจะเก็บเงินได้ 1 ล้าน) เหตุการณ์นี้ต้องกินเวลาจากจุดหนึ่งที่เริ่มเก็บเงิน และกินระยะเวลาตามลักษณะของ Perfect ไปจบลงในอนาคต ที่ต้องกินเวลานั่นก็เพราะการเก็บเงินนั้นเราคงต้องสะสมไปเรื่อย ๆ ตามเวลาไปจนจบ ณ ปี 2030 ไม่ใช่อยู่ ๆ มีเงิน 1 ล้านโผล่ขึ้นมาในปี 2030 แน่ ๆ
จะเห็นได้ว่าตัวอย่างเหตุการณ์แบบนี้ดูแล้วจะเห็นได้เลยว่าสถานการณ์ในการนำมาใช้นั้นค่อนข้างยากครับ เป็นหนึ่งใน 12 Tense ที่ถ้าน้องๆกำลังฝึกฝนอยู่ อาจจะไม่ต้องเน้นเป็นพิเศษก็ได้ครับ
Future Perfect Continuous Tense
มาถึง Tense สุดท้ายใน 12 Tense แล้วครับน้องๆ โดย Future Perfect Continuous Tense นั้นจะใช้เหตุการณ์ว่ากินระยะเวลาไปเท่าไหร่จากจุดที่ปักธงไว้ในอนาคต ตัวอย่างคือ
- By 3025, I will have been working here for 10 years. (เมื่อถึงปีคริสตศักราช 3025, ฉันจะทำงานที่นี่มาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล่ว)
จากประโยคด้านบน จะเห็นได้ว่าในอนาคตปี 3025 (อนาคต) ฉันคงจะทำงานครบ 10 ปีพอดี (ทำงานมาก่อนหน้านี้ 10 ปีแล้วนะ) ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็น Tense ที่ซับซ้อนและโอกาสในการใช้ Tense นี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้นทีมวิชาการ Premier Prep แนะนำว่าไม่ต้องเคร่งเครียดกับการจำ Tense พวก Perfect Continuous แต่ไปให้ความสำคัญกับ Tense 9 อันที่เหลือดีกว่าครับ
สรุปการใช้ 12 Tense
เป็นยังไงกันบ้างน้องๆ กับการสรุปหลักการใช้ 12 Tense อย่างละเอียด อ่านมาจนจบอาจจะสงสัยว่า เหมือนจะไม่จำเป็นต้องจำทั้ง 12 Tense ใช่ไหม คำตอบก็คือใช่ครับ โดยกลุ่ม Tense Perfect Continuous มีวิธีใช้ที่บางทีก็คล้ายกับกลุ่ม Perfect จนแยกไม่ค่อยจะออก ก็เลยไม่ค่อยนิยมออกสอบนั่นเอง พี่ๆ Premier Prep ก็เลยแนะนำว่าให้อ่านเฉพาะ Tense และการใช้งานที่ออกสอบบ่อยเท่านั้น เพื่อให้น้องๆ เตรียมตัวลุยข้อสอบแบบตรงจุดและไม่ต้องสับสนเลย ขอแค่น้อง ๆ แม่นหลักการ ข้อสังเกตและข้อควรระวังของ Tense 9 รูปแบบนี้ที่นอกเหนือจาก Perfect Continuous ของทั้ง Present, Past และ Future พร้อมฝึกฝนด้วยโจทย์เพิ่มเติม บอกได้เลยว่าไม่พลาดซักคะแนนแน่นอน
Tense เป็น Concept ที่ไม่มีในภาษาไทย เพราะงั้นเวลาน้อง ๆ วิเคราะห์ประโยค จึงไม่แปลกเลยที่จะรู้สึกว่า “หนูต้องใช้จินตนาการเยอะจังเลยค่ะ” แน่นอนอยู่แล้วว่าเราใช้ความคิดจินตนาการเหตุการณ์เยอะ ๆ ยิ่งจินตนาการได้ดีเราก็จะคิดแบบเจ้าของภาษา นี่แหละที่จะทำให้เราใช้และเข้าใจ Tense ได้อย่างยั่งยืน
อย่าตกหลุมพราง “การแปล” เช่น การแปล Past Simple ว่า “เคย” เสมอนั้นอาจทำให้ความหมายเพี้ยนในบางกรณี เช่น Her little brother quitted smoking. ถ้าเราแปลว่า “น้องชายเธอเคยเลิกสูบบุหรี่” อาจจะทำให้ชวนเข้าใจผิดว่าสรุปตอนนี้ไม่เลิกสูบบุหรี่แล้วหรือเปล่า ดังนั้นให้เราเข้าใจแบบเห็นภาพไปเลยว่า “น้องชายเธอเลิกสูบบุหรี่” แล้ววงเล็บในใจว่าเลิกในอดีตนะ
ถ้าน้องๆสนใจที่อยากจะเรียนแกรมม่าแบบเข้าใจง่าย เป็นระบบ นำไปใช้จริงล่ะก็ ที่ Premier Prep มีคอร์ส Advanced Grammar ของระดับชั้นมัธยมต้นและคอร์ส Grammar Essential สำหรับระดับชั้นมัธยมปลาย ที่รับรองว่า เรียนปุ๊บ เข้าใจปั๊บแน่นอน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ LINE OA ของ Premier Prep ได้เลยครับ